Sensory Integration and Sensory Integration Dysfunction
การบูรณาการประสาทความรู้สึกของเด็ก
และความบกพร่องในการบูรณาการประสาทความรู้สึก
การบูรณาการประสาทความรู้สึกสมอง (Sensory Integration) คือ กระบวนการของระบบประสาทในการจัดการกับข้อมูลความรู้สึกที่ได้รับจากร่างกาย และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต กระบวนการนี้เกิดขึ้นในระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ที่ซึ่งประกอบไปด้วย เซลล์ประสาท (Neuron) จำนวนมหาศาล ประสาทไขสันหลัง และสมอง
หน้าที่ในการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) คือการประมวลผลข้อมูลความรู้สึกต่างๆ ที่ได้รับมา โดย 80 เปอร์เซ็นต์ ของระบบประสาทนั้นทำงานเกี่ยวกับการประมวลผล หรือจัดการกับข้อมูลความรู้สึก ซึ่งหมายความว่าสมองของคนเรานั้นก็คือเครื่องจักรกลในการประมวลผลความรู้สึก
โดยปกติทั่วไปเราทุกคนจะความสามารถในการจัดการกับตนเอง (Self-regulation) ซึ่งก็คือความสามารถในการควบคุมระดับความตื่นตัวของอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจในการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นทางความรู้สึก
โดยที่ระบบการรับความรู้สึกสมดุลการทรงตัว (Vestibular) การรับสัมผัส (Tactile) และระบบการรับความรู้สึกจากเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อ (Proprioceptive) จะเป็นระบบการรับความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานของพัฒนาการภาวะสุขภาพของเด็ก
ความบกพร่องในการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration Dysfunction) ของเด็กก็คือความบกพร่องในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากระบบการรับความรู้สึก ซึ่งบางแห่งอาจเรียกชื่อต่างกันไป เช่น Sensory Integration Disorder หรือ Sensory Integrative Disorder
ความบกพร่องในการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory Integration Dysfunction) นั้นเกิดจากการที่ระบบประสาทส่วนกลางไม่สามารถประมวลผลข้อมูลความรู้สึกที่รับเข้ามาได้ดีพอ ทำให้สมองไม่สามารถวิเคราะห์ จัดการและเชื่อมโยงข้อมูลความรู้สึกที่ได้รับมา ส่งผลให้เด็กไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเร้านั้นได้อย่างถูกต้อง และมีเป้าหมาย ทำให้ส่งผลถึงพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
การทำงานสมองและพฤติกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเด็กที่มีปัญหาในการบูรณาการประสาทความรู้สึกจะมีความยากลำบากในการเรียนรู้ และจัดการกับพฤติกรรมของตนเอง ทำให้พัฒนาการการเรียนรู้เป็นไปอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้มักพบปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย
ปัญหาในการจัดการกับตนเอง (Self-regulation problems) นั้นเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถเพิ่มหรือลดความตื่นตัวของตนเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้