Crossing the midline (การข้ามแนวกลางลำตัว) หมายถึง การใช้มือด้านใดด้านหนึ่งข้ามไปยังอีกด้านของร่างกาย ในการทำงาน เคลื่อนไหว อย่างเป็นธรรมชาติ
Why is midline crossing important? : การข้ามแนวกลางลำตัวมีความสำคัญอย่างไร
ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัวนั้นบ่งบอกถึงการทำงานร่วมกันของสมองทั้งสองซีก ผ่านส่วนที่เป็นทางเชื่อมระหว่างสมองสองซีก (corpus callosum) ถ้าเด็กมีปัญหาในการพัฒนาการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัวนั้นแสดงว่าการส่งข้อมูลประสานการทำงานระหว่างสมองสองซีกผ่าน corpus callosum ทำได้ไม่ดี และจะส่งผลต่อการพัฒนาการเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ
โดยธรรมชาตินั้นเด็กจะพัฒนาการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัวและความถนัดของมือข้างใดข้างหนึ่งไปพร้อมกัน ซึ่งเมื่อพัฒนาสมบูรณ์เด็กจะมีทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor) ที่ดี แต่ถ้าเด็กไม่พัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัว สมองทั้งสองซีกของเด็กก็จะทำงานเท่าๆ กัน แต่จะไม่แสดงข้างที่เด่น ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก และเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กนักเรียนมีความยากลำบากในการควบคุมดินสอ เมื่อถึงวัยที่ต้องเขียนหนังสือ และจะมีท่าทางการเขียนที่แปลกๆ ซึ่งเป็นกลไกการชดเชย (compensatory mechanisms) ที่เด็กพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อเป็นการชดเชย โดยแสดงให้เห็นได้จาก
เด็กมีการเอียงกระดาษ เพื่อที่จะได้เขียนจากด้านบนลงล่าง แทนการเขียนข้ามแนวกลางลำตัวจากซ้ายไปขวา
เด็กมีการเอียงลำตัวทั้งตัวไปทางด้านซ้าย โดยที่เด็กไม่ใช้มือในการข้ามแนวกลางลำตัว
เด็กบางคนอาจมีปัญหาในการเขียนเส้นแนวเฉียง (diagonal line) กากบาท หรือเลข 8 เป็นต้น อีกทั้ง เด็กที่มีปัญหาในการข้ามแนวกลางลำตัว (crossing midline) อาจมีปัญหาในการอ่านร่วมด้วย โดยสังเกตได้จากเวลาที่เด็กกวาดตาอ่านหนังสือจากซ้ายไปขวา การเคลื่อนไหวของตาจะมีการหยุดที่ตรงกลางลำตัว แล้วมีการกระพริบตาเพื่อปรับการรับภาพใหม่ กรณีนี้มักจะพบว่าเด็กมักมีการอ่านข้าม หรือหลงตำแหน่งบรรทัดที่ตนกำลังอ่าน หรือดูอยู่ และปัญหาอาจส่งผลต่อการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ เช่น การใส่ถุงเท้า รองเท้า ซึ่งในการทำงานต่างๆ ต้องมีการใช้มือข้างหนึ่งข้ามแนวกลางลำตัวไปทำงานกับร่างกายอีกซีกหนึ่ง เป็นต้น
How Crossing the Midline Develops: การข้ามแนวกลางลำตัวมีพัฒนาการเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การข้ามแนวกลางลำตัวปรากฏเกิดขึ้นหลังจากเด็กมีการพัฒนาทักษะสหสัมพันธ์การใช้มือทั้งสองข้าง (Bilateral Coordination Skill) โดยเด็กเรียนรู้สหสัมพันธ์ของมือทั้งสองข้างร่วมกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การผลัก การดึง การคลาน จนเกิดเป็นทักษะที่สูงขึ้น เช่น การใช้กรรไกรตัดกระดาษ ที่มือหนึ่งทำหน้าที่ตัด อีกมือทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยจับ และหมุนกระดาษ (assistant hand) หลังจากเด็กมีการพัฒนาความสามารถในการ หมุนลำตัว (trunk rotation) ซึ่งถ้าเด็กมีปัญหาขาดความมั่นคงของการควบคุมกล้ามเนื้อแนวกลางลำตัว (core stability) ไม่สามารถเคลื่อนไหวลำตัวแยกส่วนได้ จะส่งผลต่อพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัว ดังแสดงในภาพ
เด็กมีการหมุนร่างกายส่วนล่าง (lower body) สะโพกมีการเคลื่อนไหว ขณะที่ร่างกายส่วนบน (upper body) ทำการหมุน ซึ่งไม่ใช่การหมุนตัว (trunk rotation) และไม่ใช่การเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัว (midline crossing)
การหมุนตัว (trunk rotation) และการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัวที่ถูกต้องนั้น สังเกตได้ขณะลำตัวส่วนบนมีการหมุน ลำตัวส่วนล่างต้องอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว
Positioning Tips: เคล็ดลับการจัดท่าพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัว
เด็กชายในภาพพยายามใช้แต่มือข้างซ้ายในการเล่นเกม โดยหลีกเลี่ยงการใช้มือขวาข้ามแนวกลางลำตัวมาหยิบการ์ด
วิธีจัดท่ากระตุ้นทำได้โดยช่วยจับมือซ้ายของเด็กไว้ และกระตุ้นให้ใช้มือขวาข้ามแนวกลางลำตัวหยิบการ์ด
กรณีเด็กโตที่รู้เรื่อง อาจบอกให้เด็กใช้มือข้างที่ไม่ถนัดวางบนโต๊ะขณะเล่นเกมเปิดภาพ
จะทำให้เด็กมีการใช้มือข้างถนัดข้ามแนวกลางลำตัวเพื่อทำงานมากขึ้น
แม้ว่าเด็กหญิงคนนี้จะใช้มือขวาทำงานาข้างแนวกลางลำตัว แต่มือซ้ายวางในตำแน่งไม่ถูกต้อง ควรทำหน้าที่เป็นมือผู้ช่วย (assistant hand) ในการช่วยจับกระดานกว่า ดังนั้นนอกจากจะพัฒนามือข้างที่ถนัดในการทำงานข้ามแนวกลางลำตัวแล้ว ควรพัฒนามืออีกข้างทำงานเป็นมือผู้ช่วยด้วย ดังแสดงในภาพด้านล่าง
การให้เด็กทำงานในแนวตั้ง (vertical surface) สามารถพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัวได้ดี แต่ต้องดูตำแหน่งท่าทาง (positioning) ให้ดี
ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัว (crossing midline)
เรียบเรียงโดย Mind Brain & Body Child Development Center
บรรณานุกรม
OT Activities for Crossing the Midline, http://www.ot-mom-learning-activities.com (July 2015)
Help your child develop “crossing the midline” skill, http://nspt4kids.com/parenting/help-your-child-develop-the-crossing-the-midline-skill/ (July 2015)