สัญญานปัญหาของสมองส่วนบริหารจัดการ (EFs) ในเด็ก
“สมองส่วนบริหารจัดการ (EFs) คือ ความสามารถของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การวางแผน การจัดการ การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การปรับตัว และการตระหนักถึงอารมร์ตนเอง”
สัญญานปัญหาของสมองส่วนบริหารจัดการในแต่ละด้าน
ด้านความจำระยะสั้น (Working memory): คือ ความสามารถในการจำข้อมูลขณะทำงานที่มีความซับซ้อน หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- มีความสับสนเมื่อได้รับข้อมูลที่มากเกินไป
- อาจขาดความต่อเนื่องในงานที่ตนเองกำลังทำอยู่
- มีความยากลำบากในการติดตามบทเรียนในชั้นเรียน
- มีความยากลำบากในการตั้งใจและจดจ่อในระยะเวลาที่เหมาะสม
- มีความยากลำบากมากในการแก้ปัญหาในใจ (เช่น คิดเลขในใจ)
- มีปัญหาการอ่านจับใจความ หรือการสรุปเนื้อหา
- มีความยากลำบากในการทำตามคำสั่งขั้นตอน
ด้านการคิดยับยั้ง (Inhibition): คือ ความสามารถในการหยุดพฤติกรรมหนึ่งๆ ของตนเองในเวลาที่เหมาะสม ทั้งในด้านการกระทำและความคิด หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- มีความยากลำบากในการรอ
- รบกวน และขัดขวางกิจกรรมกลุ่ม
- สัมผัสสิ่งของหรือผู้คน
- ไม่ใส่ใจ ทำงานผิดพลาด
- อยู่ไม่นิ่ง
- ตอบสนองแบบอัตโนมัติ โดยไม่คิดไตร่ตรอง
- จมกับปัญหา ไม่สามารถหยุด ไตร่ตรอง หาวิธีการใหม่
- พูดเยอะ พูดไม่หยุด
- ตีความผิดความหมาย
ด้านการคิดยืดหยุ่น (Flexibility): คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนจากสถานการณ์หนึ่งไปอีกสถานการณ์ได้อย่างอิสระ และสามารถคิดยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- มีความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง
- มีความยากลำบากในการเริ่มงานใหม่ก่อนที่จะงานแรกจะเสร็จสมบูรณ์
- มีความยากลำบากเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบ (เช่น การแก้ปัญหาการบวกและลบในหน้าเดียวกัน)
- แสดงพฤติกรรมที่เอาจริงเอาจังมากเกินไป
- ไม่มีความยืดหยุ่น
- มีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้ง
ด้านสมาธิต่อเนื่อง (Sustain attention): คือ ความสามารถในการคงสมาธิ แม้จะมีสิ่งหันเหความสนใจ, มีความเมื่อยล้า, หรือความเบื่อหน่าย หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- วอกแวกง่าย
- ทำงานขาดความต่อเนื่อง
- หลงลืม
- เหม่อ/ฝันกลางวัน
- ขาดความใส่ใจ ทำงานผิดพลาด
- มีความยากลำบากในการทำตามคำสั่งขั้นตอน
- มีความยากลำบากในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย
- พฤติกรรมหลบเลี่ยงการทำงาน (เช่น คุยกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ, เล่นกับสิ่งของใต้โต๊ะ)
ด้านการจัดการ/การวางแผน/การเริ่มต้น (Organization/Planning/Initiating): คือ ความสามารถในการกำหนดลำดับงาน การเล่น และการจัดเก็บข้อมูล, ความสามารถในการจัดการสิ่งที่จำเป็นสำหรับงานในปัจจุบันขณะและอนาคต, ความสามารถในการเริ่มต้นงานหรือกิจกรรม และสร้างแนวคิด ตอบสนอง และมีกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- อาจลืมการบ้าน/อุปกรณ์
- ไม่สามารถจัดเตรียม และหาอุปกรณ์ หรือมีโต๊ะทำงาน/พื้นที่ทำงานรก
- มีความยากลำบากในการทำงานให้เสร็จทันเวลา (เช่น อาจประเมินเวลาทำงานผิด)
- มีความยากลำบากในการจัดการและแสดงแนวคิดในรูปแบบการพูด และ/หรือการเขียน
- ทำงานลวกๆ ไม่ตั้งใจ
- มีความยากลำบากในการตอบคำถามปลายเปิด
- มีความยากลำบากในการตัดสินใจ
- มีความยากลำบากในการเริ่มงานด้วยตนเอง
- มีความยากลำบากในการสร้างแนวคิด ตอบสนอง และแก้ไขปัญหา
- มีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาหลายลำดับขั้นตอน
ด้านการควบคุมอารมณ์ (Emotional control): คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนการตอบสนองทางอารมณ์ โดยนำความคิดที่มีเหตุผลมารองรับความรู้สึก หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ปฏิกิริยาทางอารมณ์ไม่ตรงกับสถานการณ์ (เช่น เหตุการณ์เล็ก ๆ ก็กระตุ้นทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ที่สูงได้)
- อาจหัวเราะจนเกินไปหรือร้องไห้ง่ายกับสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย
- อาระวาดหรือระเบิดออกมา
- อารมณ์เสียง่าย/ อ่อนไหวมากเกินไป
- แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
- เข้มงวด / ขาดความยืดหยุ่นทางความคิด
- มีความอดทนต่อความหงุดหงิด/คับข้องใจได้น้อย
- ขาดวุฒิภาวะทางสังคม
- ไม่รับรู้เกี่ยวกับความคิด และ/หรือ ความรู้สึกของผู้อื่น
ด้านการตรวจสอบตนเอง (Self-monitoring): คือ ความสามารถในการตรวจสอบประสิทธิภาพของตนเอง เทียบกับมาตรฐานที่ต้องการ หรือที่ได้รับความคาดหวัง หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ไม่ใส่ใจ ทำงานผิดพลาด
- ทำงานรีบร้อน
- ไม่แสดงความภาคภูมิใจในงานของตนเอง
- มีความยากลำบากในการตรวจสอบงาน/การทบทวนซ้ำ
- ทำงานไม่เรียบร้อย
- ทำโดยไม่คิดไตร่ตรอง
- ไม่รับรู้ถึงการกระทำและผลกระทบต่อผู้อื่น
- มีความยากลำบากในการบริหารจัดการเวลา
- ขาดทักษะการปฏิบัติ
- ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- มีความยากลำบากในการทำงานให้เสร็จ
ด้านการให้เหตุผลเชิงนามธรรม/การสร้างความคิดรวบยอด/การตัดสินใจที่ดี (Abstract Reasoning/Concept Formation/Saliency Determination): คือ ความสามารถในการสร้างความเชื่อมโยง, สังเคราะห์ และ จัดหมวดหมู่ข้อมูล หากเด็กมีปัญหาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- มีความยากลำบากกับมุมมองความคิด
- มีความยากลำบากกับการแก้ไขปัญหาเชิงสังคม
- อาจถามคำถามเดิมซ้ำๆ
- ยึดติดกับรูปธรรม หรือตัวอักษรมากเกินไป (Is a concrete, literal learner)
- มีความยากลำบากในการทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น, ได้ยิน หรือสัมผัสได้
- มีความยากลำบากในการเรียงลำดับ/จัดการข้อมูล
- มีความยากลำบากกับแนวคิดเชิงนามธรรม
- มีความยากลำบากในการอ่านจับใจความ
- มีปัญหาในการสรุปข้อมูล
- จดจ่อมากเกินไปกับรายละเอียดจนไม่เห็นภาพรวม
- มีปัญหาในการคิดเชิงอนุมาน
- ติดขัดในงานที่ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน หรือเมื่อไม่ได้รับคำสั่งที่เพียงพอ (การเขียนเรื่องราว)
***แปลและเรียบเรียงบทความจาก www.jerichoschools.org โดย Mind Brain & Body มิถุนายน 2564