Sensory Integration Problems in Preemies
เรื่องราวของน้อง มิกกี้ เด็กชายอายุ 18 เดือนผู้คลอดตอนอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ น้ำหนัก 2 ปอนด์ 12 ออนซ์ (ประมาณ 1.25 กก.) และได้รับบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention) สำหรับปัญหาพัฒนาการล่าช้าในด้าน กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะการรับรู้ทางด้านสายตา (visual perceptual skill) และทักษะการพูดและการสื่อสาร ตั้งแต่หลังคลอด แต่สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลมากที่สุดคือเด็กไม่ชอบให้โอบกอด ร้องไห้ทุกครั้งเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม นั่งนิ่งๆ ได้ไม่นาน เคลื่อนไหวตลอดเวลา วิ่งแขย่งปลายเท้า ชนโซฟาหรือผนังบ่อยๆ และมักสร้างความวุ่นวายตลอด ทำให้ผู้ปกครองปวดหัว สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้อง มิกกี้ นั้นคือสัญญาณของปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐาน (sensory integration issues)
การบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐานคืออะไร: What is Sensory Integration?
เราทุกคนล้วนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ผ่านระบบประสาทความรู้สึกต่างๆ เราเห็น ได้ยิน เราสัมผัส เรารับรู้แรงดึงดูดของโลก (gravity) และเราเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ สิ่งกระตุ้นความรู้สึกนั้นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และจากภายในร่างกายของเรา เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องโดยที่เราไม่ได้สนใจ หรือรู้สึกตัว กระบวนการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐานส่วนใหญ่นั้นทำงานโดยอัตโนมัติ โดยเริ่มจากการรับความรู้สึกสิ่งเร้า (sensory input) เข้าสู่กระบวนการลงทะเบียนประสาทความรู้สึก (register) เพื่อประมวลผล (process) ในระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ในเด็กที่มีปัญหาในการประมวลผลระบบประสาทความรู้สึก (SID) นั้นเหมือนตกอยู่ในโลกที่มาแต่ความวุ่นวาย ไม่สามารถประมวลผลและตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น หากเปรียบการบูรณาการประสาทความรู้สึกของสมองเป็นเหมือนวงออเคสตร้า (orchestra) ซึ่งประกอบด้วยชุดเครื่องเป่า ชุดเครื่องสาย ชุดเครื่องตี และเปียโนที่มีคีย์เสียงที่ตรงกัน บรรเลงประสานเสียงพร้อมกันอย่างสอดคล้อง แต่ในเด็กที่มีปัญหาประมวลผลประสาทความรู้สึก นั้นเปรียบกับไวทยากรไม่สามารถควบคุมวงดนตรีได้ดี เครื่องดนตรีแต่ละชุดทำงานไม่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาการประมวลผลความรู้สึกหลายด้าน การไปห้างสรรพสินค้านั้นเปรียบเหมือนสมองเด็กอยู่ท่ามกลางคอนเสิร์ตร๊อคแอนด์โรว์ สมองเด็กอาจได้ยินเสียงความถี่หลอดไฟ เสียงครูดของล้อเข็ญดังเหมือนเสียงฟ้าร้อง แผนกเนื้อกลิ่นแรงเหมือนกองขยะ การเดินผ่านผู้คนเหมือนถูกรถบั๊มกระแทก ซึ่งคนทั่วไปไม่เคยรู้สึกเช่นนั้น
สัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกสมอง: Common Signs of Sensory Integration Dysfunction
- มีการตอบสนองที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปต่อประสาทความรู้สึกผิวกาย เสียง แสง กลิ่น รสสัมผัส และการรับความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างไม่เหมาะสม
- มีปัญหารักษาสมดุลการทรงท่า (vestibular sense) และระบบการรับความรู้สึกจากเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ (proprioceptive sense) ที่ทำให้เกิดการรับรู้ร่างกายตนเอง (body awareness)
- ถูกรบกวนจากสิ่งสัมผัสผิวกาย เช่น เนื้อผ้าชนิดต่างๆ ฉลากปกเสื้อ หรือเข็มขัด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว เช่น ทางลาด ชิงช้า หรือการกระโดด
- ไม่ชอบกิจกรรมการทำความสะอาดร่างกาย เช่น การแปรงฟัน หรือการสระผม
- ไม่ชอบอาหารที่คนส่วนใหญ่ชอบ
- เวียนหัวง่าย หรือไม่เคยเวียนหัวเลย
- การเคลื่อนไหวดูงุ่มง่าม
- มักจะเหม่อลอย หรือตื่นตัวสูงมากเกินไป
- ไม่มีสมาธิจดจ่อ
- ไม่ชอบคนเข้าร่วมกลุ่ม
- แสดงความรู้สึกเจ็บปวดมาก หรือน้อยเกินไป
- มักเหล่ตา กระพริบตา หรือปิดตา บ่อยๆ
อะไรคือสาเหตุของปัญหาบูรณาการประสาทความรู้สึก: What causes sensory integration problems?
งานวิจัยใหม่ๆ ให้การสนับสนุนว่าปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกของสมองเป็นผลมาจากความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาท ซึ่งมักพบมากในเด็กคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะเด็กที่น้ำหนักตัวน้อย หรืออายุครรภ์น้อย เด็กอุปการะจากต่างประเทศ เด็กที่มีอุบัติเหตุระหว่างคลอด หรือเด็กที่ต้องพักฟื้นตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน โดยปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory problem) นั้นมักพบร่วมกับการวินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น Autism, Attention Deficit Disorder, Down syndrome, Fragile X, Anxiety and Depression และโรคอื่นๆ โดยที่โรคเหล่านี้ และปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกอาจเกิดขึ้นร่วมกัน หรือมีปัญหาเฉพาะการบูรณาการประสาทความรู้สึกอย่างเดียวก็ได้ มีการคาดการว่าปัญหาในการบูรณาการประสาทความรู้สึกนั้นสามารถพบได้ในเด็กทั่วไป
ทำไมเด็กคลอดก่อนกำหนดจึงมีความเสี่ยงของปัญหาการบูรณาการประสาทความรู้สึกของสมอง: Why preemies are at increased risk for sensory integration problems?
ขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทารกได้รับความอบอุ่นปลอดภัยอยู่ในความมืด ได้ยินแต่เสียงจังหวะการเต้นหัวใจของแม่ การพัฒนาระบบประสาทต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบประสาทเป็นพันๆ จุด แต่ถ้าเด็กคลอดก่อนกำหนด โดยที่ระบบประสาทยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ จะทำให้ระบบประสาทไม่พร้อมที่จะจัดการกับข้อมูลสิ่งเร้าต่างๆ ได้
หลังจากเด็กคลอดทีมงานห้องผู้ป่วยแรกเกิดระยะวิกฤต (NICUs) ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ในการลดสิ่งกระตุ้นต่างๆ ไม่ให้รบกวนเด็ก แต่ทว่าห้องที่วุ่นวาย มีทั้งแสงไฟ เสียงของอุปกรณ์มากมาย นั้นสามารถกระตุ้นรบกวนระบบประสาทความรู้สึกของเด็กคลอดก่อนกำหนดได้ โดยทีมงานผู้ป่วยแรกเกิดระยะวิกฤติ (NICU) นั้นประกอบด้วยพยาบาลทารกแรกเกิด (neonatal nurse) นักกิจกรรมบำบัด (occupational therapist) นักกายภาพบำบัด (physical therapist) ผู้มีทำงานกระตุ้นพัฒนาการ และให้คำแนะนำพ่อแม่ในการสังเกตสัญญาณของปัญหาระบบความรู้สึก (sensory issues) และปัญหาพัฒนาการล่าช้า (developmental delay)
เด็กทารกแต่ละคนมีความเฉพาะแตกต่างกัน แต่เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- มีความไวมากต่อเสียง แสง การรับสัมผัส การเคลื่อนไหว
- มีการหลงเหลือของปฏิกิริยาสะท้อนกลับดั้งเดิม (retain startle reflexes) หลงเหลืออยู่นานกว่าปกติ
- มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ แข็งแกรง (stiff) หรือเหลว (floppy) หรือทั้งสองแบบผสมกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักดีขึ้นหลังจาก 12-18 เดือน
- หันเหความสนใจง่าย และความตื่นตัวสูง หรืออาจตรงข้าม เงียบ หรือนอนมากกว่าปกติ
- มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางด้านสายตา (vision problem)
- มักมีปัญหาความไวของอวัยวะช่องปากมากผิดปกติ (oral defensiveness) เพราะประสบการณ์ทางลบเกี่ยวกับการให้อาหารทางหลอดสายยาง สายช่วยหายใจ และการดูดเสมหะ ซึ่งเหล่านี้มีผลต่อการกินของเด็ก และอาจส่งผลต่อความผิดปกติของความตึงตัวของกล้ามเนื้อในปากร่วมด้วย
- ส่วนใหญ่ปัญหาเกี่ยวกับระบบการรับความรู้สึก (sensory-base difficulties) จะดีขึ้นเองเมื่อระบบประสาทของเด็กมีการพัฒนาจนสมบูรณ์ โดยเฉพาะในกรณีของน้อง มิกกี้ ที่ผู้ปกครองได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากนักกิจกรรมบำบัด ในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเฉพาะเจาะจงของความรู้สึกที่เด็กต้องการ หรือระมัดระวังการกระตุ้นความรู้สึกที่มากเกินไป (sensory overload) เช่น การจัดท่าทางเวลาให้อาหาร หรือวิธีจับเด็กด้วยสัมผัสที่มั่นคง ที่ไม่ใช้สัมผัสแผ่วเบา หรือวิธีการโยกกล่อมเด็ก เป็นต้น
วิธีในการช่วยเด็กที่มีปัญหาในการบูรณาการประสาทความรู้สึกสมอง (sensory integration problems)
ด้วยการกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ร่วมกับการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง เด็กส่วนใหญ่สามารถพัฒนาความสมบูรณ์ของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาระบบความรู้สึกของตนเองได้ดีขึ้น ถ้าผู้ปกครองกังวลเกี่ยวกับปัญหาระบบประสาทความรู้สึกของเด็ก สามารถเข้ารับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น กุมารแพทย์พัฒนาการ หรือนักกิจกรรมบำบัดที่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการบูรณาการประสาทความรู้สึกสมองได้ (ในสหรัฐอเมริกาเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สามารถรับบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (EI program) จากสหวิชาชีพได้ และถ้าเด็กอายุมากว่า 3 ปี สามารถรับการประเมินจากกนักกิจกรรมบำบัดในโรงเรียนของเด็กได้)
เรียบเรียงจากบทความของ Lindsey Biel, OTR/L, co-author of Raising A Sensory Smart Child โดย Mind Brain & Body กรกฎาคม 2558
Reference: http://www.prematurity.org/child/sensory-integration-preemie.html
ความคิดเห็น