ศูนย์กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
Mind Brain & Body
Physical-Emotional-Social Child Development Center
ศูนย์กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ไมน์ด เบรน แอนด์ บอดี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นศูนย์กระตุ้นและแก้ไขพัฒนาการความพร้อมพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กแรกเกิด จนถึง 9 ปี โดยนักกิจกรรมบำบัดที่มุ่งเน้นใช้หลักการประสาทพัฒนาการมนุษย์ (Neurodevelopment) ร่วมกับทฤษฎีการบูรณาการประสาทความรู้สึกสมอง (Sensory Processing/Integration) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อ และระดับการตอบสนองของระบบประสาทสัมผัสด้านต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย (Physical development) ที่ดี ทำให้การพัฒนาอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ของเด็ก (Emotional Social and Learning development) พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
กระบวนการกระตุ้นพัฒนาการของ Mind Brain & Body
เป็นการกระตุ้นพัฒนาการพื้นฐานผ่านกระบวนการเล่นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง Individual program ตามเป้าหมายของเด็กแต่ละคน ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้วิเคราะห์ และปรับระดับกิจกรรมตามการตอบสนองของเด็ก เพื่อปรับปรุงกระบวนการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐาน (Sensory Processing) ที่ขาดประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาในการฝึก และให้คำปรึกษาผู้ปกครองแต่ละครั้ง รวมเวลา 60 นาที ความถี่ขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับการกระตุ้นพัฒนาการคือ 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัญหาของเด็กแต่ละคน หลังจากการฝึกจะมีการประเมินผลการพัฒนาซ้ำทุก 4-6 เดือน
การบูรณาการระบบประสาทความรู้สึกพื้นฐาน (Sensory Integration) หรือ SI คือ กระบวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous system) ในการจัดการกับข้อมูลความรู้สึกที่ได้รับจากภายในร่างกาย และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัว และเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน (Foundation skill) ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ โดยกระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่ขั้นการลงทะเบียนรับความรู้สึก (Sensory registration) การปรับระดับความรู้สึก (Sensory modulation) การบูรณาการความรู้สึก (Sensory integration) การแยกแยะความรู้สึก (Sensory discrimination) และปรับตัวตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยกระบวนการนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของสมองตั้งแต่ Brainstem, Cerebellum, Limbic system และ Cerebral cortex ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับ การควบคุมสหสัมพันธ์การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (coordination) สมาธิ อารมณ์ ความจำ การควบคุมระดับความตื่นตัว (arousal levels) การควบคุมการตอบสนองแบบอัตโนมัติ (autonomic function) และเป็นส่วนที่ทำงานร่วมกับการเรียนรู้ระดับสูง (higher level cognitive functions) โดยพัฒนาการ Sensory Integration นั้นจะเริ่มตั้งแต่เด็กทารกจนสมบูรณ์เมื่ออายุประมาณ 8-10 ปี และความสามารถจะคงอยู่ตลอดช่วงชีวิต โดยระบบการรับความรู้สึกที่ทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญคือ การรับสัมผัส (Tactile sense) ระบบรักษาสมดุลการทรงตัว (Vestibular system) และการรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ (Proprioceptive sense) ซึ่งทั้ง 3 ระบบนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ ของเด็ก
การพัฒนาระบบบูรณาการประสาทพื้นฐาน (Sensory Processing/Integration) มีความสำคัญอย่างไร
ผลการวิจัยทางด้านสมองได้แสดงให้เห็นว่า ช่วง 7 ปีแรกของเด็กนั้นเป็นช่วงที่สำคัญของชีวิต พัฒนาการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเด็กมีพัฒนาการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐานที่ดี (Sensory Processing) ก็จะส่งผลให้การพัฒนากล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว การจัดการตนเอง พัฒนาการทางด้านภาษา (language) พัฒนาการทางด้านสมาธิ พฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม และการเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ แต่ถ้าเด็กมีความบกพร่องในการบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐาน (Sensory Processing Disorder) จะทำให้สมองของเด็กเกิดความยากลำบากในการจัดการกับข้อมูลประสาทความรู้สึกต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนรู้ด้านต่างๆ ของเด็กได้
ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาในการพัฒนาของเด็กแต่ละคน
- ความถี่ที่เหมาะสม และความสม่ำเสมอในการกระตุ้นพัฒนาการมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของระบบประสาทสมอง ถ้าความถี่น้อยเกินไป หรือขาดความสม่ำเสมอในการกระตุ้นอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเป้าหมายที่ต้องการได้
- การทำการบ้านตาม Individual Home Program อย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมการกระตุ้นพัฒนาการ
- ความรู้ความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของผู้ปกครอง บุคคลในครอบครัว โรงเรียน ครู และคนใกล้ชิด มีผลทำให้การกระตุ้นได้ผลเร็วขึ้นหรือช้าลงได้
- ความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม (sensory environment) ของผู้ปกครอง เช่น การพาเด็กไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่วุ่นวาย มีความกดดัน หรือความเครียดจากการเรียนมากเกินไป มีผลต่อกระบวนการพัฒนาของเด็ก
- ปัจจัยภายในตัวของเด็กแต่ละคน ที่มีระดับปัญหาแตกต่างกันไป ทำให้การตอบสนองต่อโปรแกรมการกระตุ้นใช้ระยะเวลาแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
การกระตุ้นพัฒนาการแบบหนึ่งต่อหนึ่งต่างจากการเรียนกีฬา ดนตรี หรือศิลปะอย่างไร
การกระตุ้นพัฒนาระบบบูรณาการประสาทความรู้สึกพื้นฐาน (Sensory Processing/Integration) แบบหนึ่งต่อหนึ่งจากนักกิจกรรมบำบัด เป็นกระบวนการเฉพาะ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลความรู้สึกของสมองบางด้าน ที่มีประเด็นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลของเด็ก มีการทดสอบโดยใช้เครื่องมือมาตรฐานต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ ตั้งเป้าหมาย ให้การกระตุ้นพัฒนาการ และมีการประเมินผลการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนกีฬา ดนตรี หรือศิลปะ ที่มุ่งเน้นทักษะการเคลื่อนไหวเฉพาะด้าน หรือความสามารถเฉพาะบางอย่าง ซึ่งเป็นผลดีกับเด็กทุกคน แต่อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐานบางด้านที่บกพร่องของเด็กได้