The Proprioceptive Sense ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ
ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ เป็นระบบรับความรู้สึกที่บอกเราถึง การเคลื่อนไหวและตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โดยจะเป็นระบบที่ทำงานร่วมกับระบบการรับสัมผัส และการรับความรู้สึกสมดุลการทรงตัว
ตัวรับความรู้สึกของระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อนั้นอยู่ที่บริเวณ กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน สิ่งที่กระตุ้นการทำงานของระบบการรับความรู้สึกชนิดนี้ คือ การเคลื่อนไหวและแรงโน้มถ่วงของโลก
ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อหรือ “Position sense” จะส่งข้อมูลบอกให้รู้ว่ากล้ามเนื้อมีการยืดหรือกำลังหดตัวอยู่ และข้อต่อกำลังงอหรือกำลังเหยียดตรงอยู่ แม้ในขณะที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว แรงโน้มถ่วงของโลกก็จะส่งสัญญาณมากระตุ้นตัวรับความรู้สึกนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว
ระบบการรับความรู้สึกกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นั้นทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับระบบการรับสัมผัส และระบบการรักษาสมดุลทรงตัว บางครั้งผู้เชี่ยวชาญเรียกการทำงานร่วมกันนี้ว่า กระบวนการ “ Tactile-proprioceptive”หรือ” vestibular-proprioceptive”
กระบวนการ Tactile-Proprioceptive หรือ somatosensory เป็นการรับรู้ของระบบสัมผัสและตำแหน่งต่างๆของร่างกายร่วมกัน ในลักษณะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อจับดินสอต้องจับด้วยแรงเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอไม่ให้ดินสอหลุดมือขณะเขียนหนังสือ
กระบวนการ Vestibular-Proprioceptive เป็นการทำงานของระบบรักษาสมดุลร่วมกับการรับรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกายร่วมกันขณะร่างกายมีการเคลื่อนไหว เช่น ขณะเรากำลังโยนรับบอล หรือกำลังปีนป่าย
การทำหน้าที่ของระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ ทำให้เรามีความสามารถในการรับรู้ตัวเอง (body awareness) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการควบคุมการเคลื่อนไหว และการวางแผนการเคลื่อนไหว (motor planning) ทำให้เราสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวเดินได้อย่างราบรื่น หรือวิ่งได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราเกิดความมั่นคงทางด้านอารมณ์ (Emotional security) มั่นใจในการเคลื่อนไหวของตนเอง
ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อเป็นระบบการรับความรู้สึกที่อยู่ภายนอกอำนาจจิตใจ (Unconscious) ดังนั้นเราจึงไม่ได้คิดว่าเราจะต้องนั่งตัวให้ตรงขณะอยู่บนเก้าอี้ เพราะมันเป็นระบบที่ทำงานโดยอัตโนมัติ
The Out of Sync Proprioceptive Sense เด็กที่มีภาวะบกพร่องของระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ
ความบกพร่องของระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ คือ กระบวนการที่ระบบกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รับและประมวลผลข้อมูลผิดพลาด โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบร่วมกับปัญหาของระบบรับสัมผัสและระบบการรับรู้สมดุลทรงตัว ซึ่งมีน้อยมากที่จะพบเฉพาะปัญหาจากระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่ออย่างเดียว
เด็กที่มีความบกพร่องของระบบกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ จะมีความยากลำบากในการแปลผลข้อมูลความรู้สึกของตำแหน่งร่างกาย การเคลื่อนไหวของศรีษะและรยางค์ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เด็กขาดสัญชาตญาณพื้นฐานในการควบคุมการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติไป
เด็กที่มีความบกพร่องในการรับรู้ส่วนต่างๆ และตำแหน่งของร่างกาย นั้นเนื่องมาจากไม่สามารถควบคุมหรือสังเกตการณ์และติดตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กตนเองได้ ทำให้การวางแผนการเคลื่อนไหว (motor planning) เป็นสิ่งที่ยากและท้าทายมากสำหรับเด็กมาก เด็กอาจแสดงลักษณะเคลื่อนไหวเชื่องช้า หรือหงุดหงิดง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นเด็กซุ่มซ่าม
บางครั้งเด็กมักจะชน กระแทกทุกๆ สิ่งหรือทุกๆคน ที่อยู่ใกล้ หรืออาจแสดงอาการหงุดหงิดกับการเดินลงถนนที่เป็นทางลาดเอียง
การจัดการกับวัตถุจะทำได้ยาก เด็กอาจจะกะแรงไม่ถูกออกแรงมากหรือน้อยเกินไป เขียนหนังสือกดจนไส้ดินสอหัก ทำน้ำหกเป็นประจำ ยากลำบากในการจับวัตถุที่มีน้ำหนักมาก เช่น ถังน้ำ หรือบางครั้งก็ยากลำบากในการจับวัตถุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ส้อมและหวี เด็กอาจจะมีความยุ่งยากในการยกถือวัตถุไว้ไม่ให้ตกถ้าสิ่งของนั้นมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน
จากการที่เด็กมีความยากลำบากในการรับรู้ร่างกายตนเอง เด็กจึงต้องพยายามใช้ตามองว่าตอนนี้ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ เช่น เวลารูดซิบเสื้อ กดกระดุมเสื้อ ลุกขึ้นจากเตียงขณะที่อยู่ในห้องมืดๆ กลายเป็นเรื่องยาก ในบางสถานการณ์ถึงแม้ว่าเด็กจะคอยใช้การมองช่วยในการเคลื่อนไหวตลอด แต่เด็กก็ไม่สามารถใช้ร่างกายทั้งสองด้านทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดี
เด็กบางคนอาจจะรู้สึกกลัวเวลาที่ต้องเคลื่อนไหว เพราะเค้าไม่สามารถควบคุมความมั่นคงในการทรงท่าได้ และเมื่อต้องเคลื่อนไหวในท่าทางหรือตำแหน่งใหม่ๆ เด็กจะรู้สึกขาดความมั่นคงอารมณ์ (emotional insecurity)
Reference: www.pdd.org
แปลและเรียบเรียงโดย Mind Brain & Body