The Tactile Sense; ระบบการรับสัมผัส
ระบบสัมผัสนั้นมีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ เด็กทุกคนตั้งแต่ทารกจนเติบโตผู้ใหญ่ต้องการการกระตุ้นระบบสัมผัสเพื่อให้สามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ โดยระบบสัมผัสนั้นมีเซลล์รับความรู้สึกอยู่ที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ทำหน้าที่ในการรับสัมผัสแรงกด แรงสั่นสะเทือน การเคลื่อนไหว อุณหภูมิ และความเจ็บปวด ซึ่งระบบสัมผัสนั้นจะได้รับการกระตุ้นตลอดเวลาเมื่อเราสัมผัสสิ่งๆ ต่างรอบตัว
ดังนั้นระบบสัมผัสจึงเป็นระบบสำคัญสำหรับการรับรู้ทางด้านสายตา (Visual perception) การวางแผนการเคลื่อนไหว (Motor planning) การรับรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย (Body awareness) การเรียนรู้วิชาการ (Academic learning) ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional security) และทักษะทางสังคม (social skills)
ระบบสัมผัสมีการทำงานสองรูปแบบร่วมกันคือ ระบบการป้องกันตัวเอง (protective หรือ defensive) และระบบการแยกแยะสิ่งสัมผัส (discriminative system)
The Protective/Defensive System ระบบการป้องกันตนเอง
ระบบนี้ถูกเรียกว่าระบบการป้องกันเพราะสิ่งมีชีวิตทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบนี้เพื่อกระตุ้นให้มีการหลีกหนีจากสิ่งอันตรายเพื่อการเอาชีวิตรอด
ตัวรับความรู้สึกของระบบการป้องกันตนเองจะอยู่ตามผิวหนังของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนังศรีษะ และบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ ซึ่งการสัมผัสบริเวณเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นตัวรับสัมผัสให้เกิดการตอบสนอง
ในบางครั้งการสัมผัสแบบแผ่วเบา (light touch) จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองเชิงลบเพื่อป้องกันตนเอง เช่นเมื่อเรารู้สึกว่ามียุงมาเกาะผิวหนัง แต่บางครั้งการสัมผัสแบบแผ่วเบาก็กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เช่นการสัมผัสอย่างนุ่มนวลจากคนรัก ทั้งนี้โดยปกติเราจะไม่ค่อยตระหนักถึงระบบนี้ถ้ามันมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ เราเรียนรู้ที่จะทนทานต่อการสัมผัสที่ทำให้รู้สึกระคายเคือง แต่เมื่อมีการสัมผัสหรือสิ่งที่บ่งบอกถึงอันตรายเข้ามาใกล้ ระบบการป้องกันตนเอง (Defensive) ก็จะกลับมาทำงานทันที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาใกล้มากๆ เราจะขยับตัวถอยห่าง
The Discriminative System/ระบบการแยกแยะเรียนรู้สิ่งต่างๆ
องค์ประกอบที่สองในการทำงานของระบบสัมผัสคือระบบแยกแยะเพื่อการเรียนรู้ (Discriminative system) ซึ่งจะบอกเราว่า
- เมื่อเราสัมผัสบางสิ่ง หรือมีบางสิ่งเข้ามาสัมผัสเรา
- ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่สัมผัสนั้นอยู่ตำแหน่งใดของร่างกาย
- การสัมผัสนั้นเป็นแบบแผ่วเบาหรือรุนแรง
- ลักษณะของสิ่งที่สัมผัสนั้นเป็นอย่างไร, ขนาด, รูปร่าง, อุณหภูมิ, ชนิดและลักษณะของพื้นผิว
เมื่อระบบประสาทสมองพัฒนาถึงวุฒิภาวะ ระบบการป้องกันตนเองก็จะทำงานลดลงเพื่อให้ระบบการแยกแยะเรียนรู้สิ่งต่างๆ พัฒนาได้ดีขึ้น ตัวรับความรู้สึกของระบบสัมผัสนั้นอยู่ที่ผิวหนัง โดยพบมากบริเวณมือ นิ้ว ฝ่าเท้า และบริเวณลิ้นและปาก
The Out of Sync Tactile Sense เด็กที่มีความบกพร่องของระบบการรับสัมผัส
ความบกพร่องของระบบการรับสัมผัสเกิดจากการประมวลผลข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ของระบบประสาทในการรับความรู้สึกที่ได้รับจากผิวหนัง เด็กที่ตอบสนองต่อระบบสัมผัสมากเกินไป (Hypersensitive) จะมีภาวะหลีกหนีการสัมผัส (tactile defensive) และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองอารมณ์ทางลบต่อการสัมผัสแบบแผ่วเบาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวก็ได้ ซึ่งเด็กอาจจะรู้สึกระคายเคือง หรือกลัว และแสดงพฤติกรรมสู้หรือถอยหนี (fight-or-flight)
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กที่มีปัญหาระบบสัมผัสมักข้องใจ และแย้งว่า แต่เด็กมักร้องขอให้โอบกอด กอดรัดแรงๆ ชอบสัมผัสสิ่งของต่างๆ เป็นประจำ และชอบถือของไว้ในมือ ซึ่งพวกเค้าน่าจะไม่มีปัญหาระบบการรับสัมผัส
ซึ่งแท้ที่จริงคำตอบก็คือเด็กคนนั้นมีปัญหาระบบสัมผัสในลักษณะหลีกเลี่ยงหรือถอยหนี เด็กบางคนอาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบไม่ทันรู้ตัว หรือการสัมผัสแบบแผ่วเบา แต่ชอบให้คนอื่นกอดรัดแรงๆ ซึ่งการกอดรัดแรงๆ นั้นจะทำให้เด็กได้รับแรงกดเชิงลึก (Deep pressure) ทำให้เด็กรู้สึกพึงพอใจ และช่วยระงับความรู้สึกจากการสัมผัสแบบแผ่วเบา
เด็กกลุ่มนี้ต้องการข้อมูลความรู้จากการสัมผัสมากกว่าคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าระบบนี้อยู่ในการควบคุม และเพื่อให้ได้รับสิ่งกระตุ้นสัมผัสอย่างที่สมองของเด็กต้องการ เด็กอาจแสดงพฤติกรรมสัมผัสพื้นผิวบางอย่างซ้ำๆ หรือชอบจับสิ่งต่างๆ ที่พบเห็น ชอบชนหรือจับสัมผัสคนอื่น ลากถูมือไปตามเฟอร์นิเจอร์หรือผนัง ถือของบางสิ่งไว้ในมือตลอด
ส่วนในเด็กที่มีการตอบสนองต่อระบบสัมผัสน้อยเกินไป (Hyposensitive) มีแนวโน้มพฤติกรรมตอบสนองต่ำต่อการสัมผัส ต้องการสิ่งกระตุ้นสัมผัสที่มากกว่าคนอื่น สัมผัสสิ่งต่างๆ หรือบุคคลตลอดเวลา ตอบสนองต่ำต่อสิ่งสัมผัสแม้ความเจ็บปวด หรือบาดแผล
และแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับเด็กกลุ่มที่ตอบสนองไวมากเกินไป ที่มักถอยหนีและป้องกันตัวเองมากเกินไป แต่อาจจะแสดงพฤติกรรมไม่ค่อยรับรู้สนใจสิ่งสัมผัสต่างๆ แม้ว่าการสัมผัสนั้นจะค่อนข้างรุนแรง
แต่ทั้งนี้เด็กบางคนอาจมีทั้งการตอบสนองที่ไวมากเกินไปและไวน้อยเกินไปสลับกัน ตัวอย่างเช่น เด็กอาจกระโดดถอยหนีเมื่อมีคนโผล่เข้ามาสัมผัสบริเวณข้อศอก แต่กลับไม่รู้แยกแยะตำแหน่างได้ว่ามีการสัมผัสเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใด
Reference: www.pdd.org
แปลและเรียบเรียงโดย Mind Brain & Body