การคืบ และการคลานของเด็กมีความสำคัญอย่างไร ?
การเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีความสำคัญต่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวของเด็ก โดยการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นทุกๆ ขณะที่เกิดการกระทำต่างๆ เช่น การหายใจ การกลืน กลิ้ง นั่ง ยืน เดิน กระโดด การรับ-การโยนสิ่งของ และต่างๆ อีกมากมาย ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและสิ่งแวดล้อม โดย Devies (2008:3) ได้กล่าวว่าการเคลื่อนไหวใช้องค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง ได้แก่
- การเคลื่อนที่ (Dynamic) มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- การรับรู้มิติช่องว่าง (Space) ทำให้เกิดการรับรู้ตำแหน่งของตนเองสัมพันธ์กับช่องว่าง และสิ่งต่างๆ
- การรับรู้ความสัมพันธ์ (Relationships) ที่ใช้สำหรับตอบสนองต่อบุคคล และสิ่งต่างๆ
ครู หรือนักบำบัดมักถามผู้ปกครองถึง “ประวัติการคลานเด็กเป็นอย่างไร” ซึ่งมักทำให้ผู้ปกครองเกิดข้อสงสัยว่า การคลานและการคืบของเด็กคืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร?
การคืบ และการคลานคืออะไร?
ความหมายและความแตกต่างระหว่างการคืบ และการคลาน นั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ (South African layman’ terms) ได้ให้คำจำกัดความว่า
|
||
การคืบ (Creeping) คือการเคลื่อนไหวที่ท้องติดพื้น |
การคลาน (Crawling) ต้องมีการยกตัวพ้นพื้นและเคลื่อนไหวสี่จุด (all fours) โดยใช้มือและเข่า |
การคลานมีความสำคัญหรือไม่ ?
การคลานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขั้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวของเด็ก แม้ว่าเด็กที่ไม่คลานจะบ่งบอกไม่ได้ว่าทำให้เด็กมีปัญหาพัฒนาการ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ตามหลักความจริงที่ว่าพัฒนาการการเคลื่อนไหวในแต่ละขั้นนั้นคือการพัฒนาวุฒิภาวะสมองของเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระตุ้นให้เด็กมีการพัฒนาแต่ละขึ้นของพัฒนาการ โดยคำแนะนำในการกระตุ้นการคลานสำหรับผู้ปกครองก็คือให้เด็กได้มีโอกาสอยู่ในท่านอนคว่ำบ่อยๆ ไม่ใช้วงล้อฝึกเดิน หรือเครื่องมีกระตุ้นการเดินมาเร่งพัฒนาการเด็ก
เมื่อเด็กมีความพร้อมที่จะเคลื่อนไหว เด็กจะเริ่มโยก ผลักดึงดันตัวเอง ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงว่าระบบประสาทเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ๆ หลังจากทำซ้ำๆ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเด็กจะเริ่มพัฒนาจนสามารถดันตัวเองมาอยู่ในท่าตั้งคลานสี่จุด (all fours position) เพื่อเริ่มคลาน
ทำไมการคลานจึงมีความสำคัญ?
- เพื่อพัฒนาการควบคุมการทรงท่า (postural control)
- เพื่อพัฒนาการทรงตัว (balance)
- พัฒนาการเคลื่อนย้ายตัวเอง (locomotion)
- พัฒนาการหยิบจับ (manipulation)
การควบคุมการทรงท่า (Postural control)
การควบคุมการทรงท่า ( Davies , 2008 ; Pica , 2000 ) คือการรักษาตำแหน่งของทุกส่วนของร่างกายขณะอยู่กับที่หรือเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งต้องอาศัยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเริ่มจากเด็กใช้ปฏิกิริยาสะท้อนกลับดั้งเดิม STLR (Symmetrical Tonic Labyrinthine Reflex) เพื่อให้สามารถทรงท่าอยู่ในท่าสี่จุด (all fours) ได้ แล้วเด็กจึงเริ่มคลาน (ประมาน 8 เดือน) โดยขณะเด็กก้มหัวจะทำให้แขนนั้นงอ และขาเหยียดออก และเมื่อเด็กยกศีรษะจะทำให้แขนแข็งขึ้น และขาหดงอ โดยวิธีนี้จะทำให้แขนและขาของเด็กมีความแข็งแรงมากขึ้น จนทำให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (muscle tone) มีความพร้อมที่จะคงท่า และยกส่วนหนึ่งของร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อเริ่มการคลานไปข้างหน้า
การทรงตัว (Balance)
การทรงตัวและการควบคุมการทรงท่า (Balance and postural control) ทำงานร่วมกันเพื่อให้ร่างกายคงท่าตั้งตรงอยู่ได้ (hold the body upright) ขณะอยู่กับที่ หรือเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบการรับความรู้สึกจากเอ็น ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ (Proprioception) ร่วมกับระบบการับรู้สมดุลการทรงท่า (Vestibular system) ที่อยู่ในหูชั้นใน และมีระบบการมองเห็นเป็นผู้ช่วย ทำให้สมองรับรู้ตำแหน่งของร่างกายตนเอง และสามารถคำนวณปรับแต่งการทรงตัวได้ (Farndon 2008; Macintyre และ McVitty, 2004)
ก่อนที่พัฒนาการคลานจะเริ่มขึ้นนั้น เด็กจะพัฒนาการทรงท่าสี่จุด (all four) และมีการซ้อมโยกตัวไปข้างหน้า และข้างหลัง เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างการทรงท่า (posture) การทรงตัว (balance) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength) และการปรับสายตาขณะร่างกายมีการเคลื่อนไหว จนกระทั้งเด็กมีความพร้อม และรู้สึกมั่นใจ จึงจะเริ่มคลาน แต่หากเด็กข้ามพัฒนาการคลาน จะขาดการกระตุ้นการทำงานประสานร่วมกันของระบบพื้นฐานเหล่านี้ทำให้อาจเกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้
การเคลื่อนย้ายตัว (Locomotion)
การคลานนั้นเป็นขั้นแรกที่เด็กเรียนรู้ประสบการณ์การเคลื่อนที่ ทำให้เด็กรับรู้ถึงการทำงานของร่างกายซีกซ้ายและซีกขวา และเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัว (crossing the midline) ระหว่างร่างกาย และสมองทั้งสองซีก ซึ่งมีความสำคัญมากเมื่อเด็กโตในวัยเริ่มอ่าน เขียน บางคนอาจสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อเด็กลากแนวนอน มักจะเปลี่ยนมือถือดินสอเมื่อถึงจุดตรงกลางลำตัว (midpoint) หรือเมื่อเด็กกวาดสายตาอ่านหนังสือ มักมีการหยุดเมื่อถึงจุดตรงกลางลำตัว หรือตรงกลางกระดาษ
การคืบและการคลาน (Creeping and Crawling) นอกจากจะช่วยพัฒนาการข้ามแนวกลางลำตัวแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองทั้งสองซีก (Hannaford, 1995) เพราะการข้ามแนวกลางลำตัว (crossing the midline) นั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานของตาทั้งสองข้าง หูทั้งสองข้าง มือและเท้าทั้งสองข้างร่วมกัน ซึ่งควบคุมโดยสมองทั้งสี่ส่วน และมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการสมอง
Goddard (2002) ได้กล่าวถึงการคลานว่า นอกจากจะเป็นการพัฒนาการมองไปข้างหน้าของเด็กแล้ว ขณะที่เด็กเคลื่อนไหวแขนไปข้างหน้ายังเป็นการกระตุ้นสายตาให้ทำงานในลักษณะไขว้กลางลำตัว (cross the midline) และเป็นการพัฒนาสหสัมพันธ์ของตา-มือ (eye-hand coordination) ซึ่งเมื่อโตขึ้นจะมีความสำคัญต่อการกวาดสายตาอ่านหนังสือ และความสามารถในการมองที่มือขณะเด็กเริ่มฝึกเขียน
อีกทั้งการคลานบนพื้นผิวชนิดต่างๆ นั้นยังเป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสผิวกายของเด็ก (Tactile sense) ซึ่งช่วยทำให้เด็กเกิดการตระหนักรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย (body awareness) โดยที่ไม่ใช้การมอง และมีส่วนสำคัญมากสำหรับการพัฒนาสหสัมพันธ์ของร่างกาย (Goddard, 2008)
การพัฒนาระบบประสาทสัมผัสผิวกายของเด็ก (tactile sense) นั้นยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการมองเห็น (vision) (Stock, 2005) เพราะเวลาที่เด็กเคลื่อนไหวแขนทั้งสองข้างสลับกันขึ้นลงขณะคลานนั้น เป็นการกระตุ้นการทำงานของสายตา และ Goddard (2002) ก็เห็นคล้องกันว่า การคลานนั้นกระตุ้นให้เด็กพัฒนาสายตา (vision) ด้านระยะห่างในการมอง (focus distance) ระหว่างตาและมือ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการอ่าน และการเขียนของเด็ก เพราะเป็นระยะการมองที่มีความห่างเท่ากัน
การคลานยังช่วยให้เด็กพัฒนารับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและช่องว่าง (personal space) ขณะเคลื่อนไหวในสถานที่ต่างๆ (Davies, 2008) โดยการมอง การเอื้อมจับผู้คน หรือสิ่งของต่างๆ จะทำให้เด็กรู้ความสัมพันธ์เกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) และกฎของสังคม (social rules) อีกทั้งยังพัฒนาการสบตา (eye contact) ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับพัฒนาการทางสังคมของเด็ก
การใช้มือหยิบจับ (Manipulation)
การหยิบจับและเคลื่อนย้ายของในมือ (manipulation) เช่น การต่อบล็อก ต่อจิ๊กซอว์ การใช้ช้อนส้อมทานอาหาร คือการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็ก และทักษะนี้จะพัฒนาขึ้นจนเด็กสามารถร้อยลูกปัด ตัดกระดาษด้วยกรรไกร การจับดินสอในท่าสามนิ้ว (grasp a pencil in a three point position) อย่างถูกต้องเป็นต้น โดยขณะที่เด็กอยู่ในท่าลงน้ำหนักท่าสี่จุด (all four) นั้น เด็กจะพัฒนา
- ความมั่นคงข้อต่อ (joint control) ของหัวไหล่ ข้อศอก แขนส่วนล่าง (lower arm) และความมั่นคงของข้อต่อในฝ่ามือ
- ความโค้งของฝ่ามือ (arches of the hand)
- การเคลื่อนไหวแยกส่วน (motoric separation) ของกล้ามเนื้อมือฝั่งหัวแม่มือ และฝั่งนิ้วก้อย
- ความแข็งแรง และความตึงตัวของกล้ามเนื้อในมือ (Visser, 2007)
สรุป: Summary
งานวิจัยต่างๆ ชี้ว่าการคลานที่ถูกต้องโดยเคลื่อนไหวสี่จุด (all fours) ที่ไม่ใช้การกระดืบ (bunny hopping) หรือการถัดตัว (bum-sliding) จะช่วยพัฒนา
- พัฒนาการเคลื่อนไหว (motor development)
- การควบคุมการทรงท่า (postural control)
- การทรงตัว (balance)
- การประมวลผลร่วมกันระหว่างร่างกายส่วนต่างๆ (integration of the different system in the body)
- การเคลื่อนย้ายตัว (locomotion)
- สหสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ (eye-hand coordination)
- กระตุ้นการทำงานของสมองทั้งสองซีก (activates both brain hemispheres)
- กระตุ้นระบบรับสัมผัสผิวกาย (tactile stimulation)
- การทำงานของตา (vision)
- การจ้องมอง (focusing distance)
- การรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและช่องว่าง (personal space)
- การสบตา (eye contact)
- การจับดินสอ (pencil grasp)
- ความมั่นคงของข้อต่อหัวไหล่ ข้อศอก แขนส่วนล่าง และมือ
- ความโค้งของฝ่ามือ (arches of the hand)
- การแยกส่วนการทำงานของฝ่ามือทั้งสองฝั่ง (motoric separation of the hand)
- ความแข็งแรง และความตึงตัวของกล้ามเนื้อในมือ (strength and tone in hand)
เรียบเรียงโดย ครูต้น นักกิจกรรมบำบัด ศูนย์ Mind Brain & Body กรกฎาคม 2558
Reference: Melodie de Jager, “Crawling/Creeping: is it important”, www.mindmoves.co.za
ความคิดเห็น